ผู้ป่วยไปพบแพทย์เวรที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาโรค
คนไข้ : "คุณหมอคะ ดิฉันมีปัญหาเรื่องเป็นแผลในปาก เป็นร้อนในบ่อยจังเลย เป็นๆหายๆ ไม่หายขาดเสียที"
หลังจากตรวจช่องปากคนไข้
แพทย์ : "คุณเป็นแผลร้อนใน ไม่ต้องตกใจ โรคนี้ทางการแพทย์เรียก แผล แอฟทัส (Aphthous ulcer) สาเหตุ ที่แท้จริงไม่แน่ชัด เชื่อว่า เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันทำให้เกิดเป็นแผลในช่องปาก มักสัมพันธ์กับความเครียด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ประจำเดือน พักผ่อนไม่พอ คุณควรจะรักษาด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาบรรเทาอาการปวด โรคจะหายได้เองใน ๑-๒ สัปดาห์"
คนไข้ : "แล้วจะหายขาดไหมคะ"
แพทย์ : "ถ้า เป็น แผล ร้อนใน เป็นผลจากความผิดปกติของร่างกาย คงเน้นไปที่การดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้พอ อย่าให้ท้องผูก ฯลฯ ก็จะไม่เป็นบ่อย แต่ถ้าพบว่าเป็นแล้วไม่หายง่าย เป็นเรื้อรังต่อเนื่องกันเกิน ๓ สัปดาห์ ควรไปให้แพทย์ ตรวจอีกครั้งนะครับ"
เรื่องของแผลในปากของผู้ป่วยคนเดียวกัน ถ้าไปพบแพทย์จีนจะพบว่ามีวิธีคิด วิธีตรวจวินิจฉัย และการรักษาอีกแบบหนึ่ง เช่น
แพทย์จีน : "ขอดู แผล ในปากหน่อยครับ แผลที่เป็นเป็นที่เดิมหรือเปล่ามีอาการอื่นร่วมไหม"
คนไข้ : "แผลเปลี่ยนที่ค่ะ และดิฉันปากแห้ง คอแห้ง กินน้ำวันละหลายขวด ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน"
แพทย์จีน : "คุณมีอาการปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน หรือหูอื้อบ้างไหม"
คนไข้ : "อาการเมื่อยเอว เข่าอ่อน มีบ้างค่ะ แต่หูอื้อ หูมีเสียงผิดปกติยังไม่มีค่ะ"
แพทย์จีนให้ผู้ป่วยแลบลิ้น จากนั้นก็ตรวจชีพจร (แมะ)
แพทย์จีน : "ตัว ลิ้นของคุณแดงไม่มีฝ้า ชีพจรเบาเล็กและเร็ว แสดงว่าคุณมีภาวะไตยินพร่อง ขาดธาตุน้ำในร่างกาย มีความร้อนในร่างกายมากเป็นพื้นฐาน อาการแผลในปากมักจะกำเริบ เมื่อได้รับปัจจัยความร้อนหรือไฟมาเสริมมากขึ้น เช่น กินอาหารรสเผ็ด กินอาหารที่เป็นหยางมาก เช่น ทุเรียน ลำใย ลิ้นจี่ ของทอด ของมัน ปาท่องโก๋ ฯลฯ หรือนอนหลับไม่เพียงพอ นอนดึก เครียดจัด การรักษาเฉพาะหน้า ต้องใช้ยาที่ขับพิษขับร้อน แต่ระยะยาวควรต้องใช้ยาบำรุงไตยิน เพื่อปรับสมดุลของร่างกายครับ"
แผล ในปากตามความหมายแพทย์แผนจีน คือ ภาวะที่เยื่อบุช่องปาก เช่น ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปากหรือเหงือก มีแผลเดียวหรือหลายแผล ลักษณะกลม แผลอาจมีสีเหลืองขาวเทา มักพบในวัยรุ่น หนุ่มสาว และผู้หญิงเวลาใกล้มีประจำเดือน