ความเป็นมาของพระสุริโยทัย ประวัติ พระสุริโยทัย สมเด็จพระสุริโยทัยเป็นวีรสตรีของไทย
วีรกรรมที่สำคัญ พระสุริโยทัย
หลังจากที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานนัก พรเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ทราบข่าวการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ จึงคิดจะเข้ามาโจมตี เพราะคิดว่าทางกรุงศรีอยุธยาคงยังไม่ทันตั้งตัว และกองทัพคงไม่เข้มแข็งพอ พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ได้คุมกำลังพลประมาณ ๓แสนคน ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อเห็นพม่ายกทัพใหญ่เข้ามา สมเด็จพระมหมาจักรพรรดิ์ได้ออกไปตั้งทัพรอข้าศึกที่ทุ่งภู่เขาทองและด้วยความเป็นห่วงพระสวามีและรู้ว่าศึกครั้งนี้คงใหญ่หลวงนักเพราะทางฝ่ายพม่ามีกำลังมากกว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยจึงปลอมพระองค์เป็นชายโดยมีพระราเมศวรและพระมหินทราธิราชพระราชโอรสตามเสด็จไปในกองทัพครั้งนี้ด้วย พระเจ้าแปรแม่ทัพฝ่ายพม่าซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งมะขามหย่องได้ล่อให้กองทัพของไทยเข้ามาในวงล้อมแล้วซุ่มโจมตีจนกองทัพไทยแตกกระเจิงไม่เป็นขบวน ในขณะเดียวกัน พระเจ้าแปรเห็นว่ากำลังได้เปรียบ จึงไสช้างของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์อย่างกระชั้นชิด สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเห็นพระสวามีเสียทีแก่ข้าศึกเกรงว่าพระสวามีจะได้รับอันตราย ด้วยพระน้ำทัยที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และด้วยความรักจึงรีบไสช้างพระที่นั่งเข้าไปขวางศัตรูอย่างรวดเร็ว เป็นจังหวะเดียวกับที่พระเจ้าแปรใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระอังสะขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทราธิราชพระราชโอรสได้ฝ่าวงล้อมของทหารพม่าเข้าไป ช่วยกันนำพระศพของสมเด็จ พระศรีสุริโยทัย ออกจากสนามรบกลับสู่พระนคร แล้วอัญเชิญพระศพไปไว้ที่ตำบลสวนหลวง เขตวัดสบสวรรค์ซึ่งอยู่ในเขตพระราชวังหลัง จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จ พระศรีสุริโยทัย อย่างสมเกียรติสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียพระทัยมาก จึงโปรด ฯ ให้ จัดสร้างเจดีย์ศรีสุริโยทัยซึ่งเป็นพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสององค์ใหญ่ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ถึงวีรกรรมแห่งความกล้าหาญและความจงรักภักดี ณ ตรงที่พระราชทานเพลิงศพ ในพระเจดีย์แห่งนี้ได้บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยไว้
วีรกษัตรีแห่งกรุงศรีอยุธยา

ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๓๔ ถึงพ.ศ. ๒๐๗๒ เป็นสมัยที่ราชอาณาจักร อโยธยามีเจ้าเหนือหัวครองราชย์ ถึง ๒ พระองค์ หนึ่งนั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ ราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่ กรุง อโยธยาศรีรามเทพนคร ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงพระนามว่า พระอาทิตยา ครองราชย์อยู่ยังเมืองพิษณุโลกอันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ
พระสุริโยไท ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือแห่งราชวงศ์พระร่วง ได้อภิเษกสมรสกับพระเยาวราช จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือพระเฑียรราชา โอรสขององค์อุปราชพระอาทิตยา วงศ์ กับพระสนม
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สิ้น พระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๐๗๒ พระอาทิตยาวงศ์ ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาเมืองหลวง รวมถึงพระเฑียรราชา และพระสุริโยไทซึ่งมีพระโอรส พระธิดาทั้งสิ้น ๕ พระองค์ ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช
ครั้นสมเด็จพระบรมราชาหน่อ พุทธางกูร สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ พระรัฏฐาธิราชกุมารพระโอรส วัย ๕ พรรษา อันประสูติจากพระอัครชายาวัย ๑๗ พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทนพระไชยราชาผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ระหว่างนั้นบ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางทุจริตคือพระยายมราชบิดาของอัครชายา พระไชยราชาจึงให้สำเร็จโทษพระรัฏฐาธิราชตามราชประเพณีโบราณ และขึ้นครองราชย์แทน ออกรบปราบปรามหัวเมืองอยู่ตลอดจึงทรงแต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้น เป็นพระอุปราชว่าราชการแทนพระองค์ที่กรุง อโยธยา
ต่อมาพระมเหสีของพระไชยราชา คือท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับขุนชินราช ผู้ดูแลหอพระ สมคบลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า โอรสพระไชยราชา จึงได้ขึ้นครองราชย์แทนขณะที่มีพระชนม์ ๑๐ พรรษา แต่ต่อมาก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนา ขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า ขุน วรวงศา
ระหว่างนั้นพระเฑียรราชาได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไทครองพระองค์อยู่ในวัง โดยมีขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเส่หานอกราชการ หลวงศรียศ คุ้มกันภัยให้ และต่อมาก็ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง อัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่าพระมหาจักรพรรดิ ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑
ในปี ๒๐๙๑ นี่เอง ที่ทางพม่านำโดยกษัตริย์นามว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้รวบรวม กำลังแผ่ขยายอำนาจรุกรานไทย เดินทัพมายังอยุธยา เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี เหตุการณ์ ตรงนี้เองที่ได้กล่าวถึงพระสุริโยไทว่าทรงปลอมพระองค์เป็นชายเข้าสู้รบกับพม่าจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานกันว่าในสงครามครานั้นพระองค์มิได้สิ้นพระชนม์เพียงพระองค์เดียว หากแต่มีพระราชบุตรีอีกพระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้นด้วย
จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แต่งขึ้นในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ได้กล่าวถึงศึกระหว่างพระมหาจักรพรรดิกับ พระเจ้าหงสาวดี และการสูญเสียพระสุริโยไท ไว้ว่า
"เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรับศึกหงสานั้น สมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นชนม์กับคอช้างนั้น"
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้บรรยายการต่อสู้ครั้งนั้นไว้โดยพิสดารว่า
"สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกเช่นนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยไทเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับพระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยไทแหงนหงายเสียทีพระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสะพระสุริโยไทขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวร กับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันเข้าแก้พระราชมารดาได้ทันที พอพระชนนีสิ้นพระ ชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึงให้เชิญพระศพ พระสุริโยไท ผู้เป็นพระอัคร มเหสีมาไว้สวนหลวง" พระศพสมเด็จ พระสุริโยไท ได้รับการเชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวงตรงที่สร้างวังหลัง ต่อมาเมื่อเสร็จสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยไทที่ในสวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างพระอารามขึ้นทรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ เรียกว่าวัดสวนหลวงสบสวรรค์ หรือบางแห่งเรียก วัดศพสวรรค์
เรื่องต่อจากนั้นก็มีว่า ทัพพม่าไม่สามารถจะตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้เพราะฝ่ายไทยได้เปรียบในที่มั่น และหัวเมืองฝ่ายไทยยังมีกำลังมาก โดยเฉพาะทัพของพระมหาธรรมราชาซึ่งเสด็จไปครองพิษณุโลก ได้ยกมาช่วยตีกระหนาบ พระเจ้าหงสาวดีจึงโปรดให้เลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่จากเอกสารพม่าที่จดจากปากคำให้การเชลยไทยคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ในชื่อว่า คำ ให้การชาวกรุงเก่าบันทึกความทรงจำหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ เล่าว่าศึกครั้งนี้ พระมหาจักรพรรดิได้รับคำท้าทายที่จะประลองยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แต่เมื่อถึงวันนัด หมายกลับประชวร พระบรมดิลกพระราชธิดาพระองค์หนึ่งจึงรับอาสาฉลองพระองค์ปลอม เป็นชายขึ้นช้างทำยุทธหัตถีเสียทีถูกพระแสงของ้าวกษัตริย์พม่าสิ้นพระชนม์ นับเป็นหลักฐานแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว พระนามของพระนางที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ ซึ่งบันทึกหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชสมบัติโดยมีพระนางอยู่ในตำแหน่งมเหสี พระราชพงศาวดารมากล่าวพระนามอีกครั้งเมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ยกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยาหลังการเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน โดยครั้งนั้นพระนางได้ป้องกันพระราชสวามีไม่ให้ได้รับอันตรายโดยไสช้างขวางกั้นพระราชสวามีจากแม่ทัพพม่า จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยว่าสมเด็จพระสุริโยไททรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้าง "พลายทรงสุริยกษัตริย์" สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ซึ่งวิเคราะห์แล้วถือเป็นช้างที่สูงมากในขบวนช้างแม่ทัพฝ่ายไทย เพราะช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิคือ พลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว ช้างทรงพระราเมศวร คือพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว และช้างทรงพระมหินทราธิราช คือพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ส่วนช้างของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ คือช้างต้นพลายมงคลทวีปนั้นสูงถึงเจ็ดศอก และช้างของพระเจ้าแปรผู้ประหารพระนาง คือพลายเทวนาคพินายสูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว สูงกว่าช้างทรงพระสุริโยไทคืบเจ็ดนิ้วเต็ม ร่องรอยแห่งอดีตกาลสั่งสมผ่านบันทึกประวัติศาสตร์ แม้นไม่อาจสัมผัสได้ด้วยสายตา แต่วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรสตรีผู้ทรงนาม "พระสุริโยไท" จะยังคงประจักษ์อยู่ในหัวใจ อนุชนรุ่นหลังมิรู้ลืมเลือน

แหล่งที่มา : study.eduzones.com , trueplookpanya.com |