|
 |
หน้าหลัก |
 |
ยินดีต้อนรับสู่คลังความรู้มุสลิมไทยโพสต์
|
|
|
|
|
ที่เที่ยวสุราษฏร์ธานี สถานที่เที่ยวสุราษ สถานที่เที่ยวสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย คำค้น : สุราษฎร์ธานี |
|
|
|
ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวเกาะสมุย
ช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม เป็นช่วงฤดูมรสุม ทะเลมีคลื่นลมแรงนักท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางไปยังเกาะต่างๆจึงควรตรวจสอบสภาพอากาศและคลื่นลมในทะเลก่อนเดินทาง หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ตำรวจภูธรอำเภอเกาะสมุย โทร.0 7742 1095 สถานีขนส่ง โทร.0 7742 1125 ท่าอากาศยาน โทร.0 7742 5030,0 7724 5601 ททท.เกาะสมุย โทร.0 7742 0720 - 2 โรงพยาบาลสมุย โทร.0 7742 0920,0 77421232 โรงพยาบาลเฉวง โทร.0 7742 2272,0 7723 0049 โรงพยาบาลบ้านดอนอินเตอร์ โทร.0 7742 5382 ตำรวจท่องเที่ยว 1155
เกาะสมุยในอดีตคนไทยรู้จักเกาะสมุยว่ามีมะพร้าวพันธุ์ดีมากที่สุดปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั่วโลกเรียกขานเกาะสมุยว่า สวรรค์กลางอ่าวไทยเกาะสมุยมีหาดทรายขาวสวยขนานไปกับทะเลและทิวมะพร้าวริมชายหาดเกือบรอบเกาะ เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่สร้างความหลงไหลให้กับผู้มาเยือน โรงแรมสมุยกลายเป็นหนึ่งในที่พักอันดับต้นๆที่มีการจองเข้ามาทั้งจากภายในและต่างประเทศ ไม่เพียงเกาะสมุยเท่านั้นบรรดาเกาะบริวารและหมู่เกาะใกล้เคียงก็ล้วนมีทิวทัศน์ที่สวยงามยิ่ง จนนักท่องเที่ยวที่มาสมุยรู้สึกถึงความคุ้มเกินค่าการเดินทาง แต่ละหาดบนเกาะมีบรรยากาศการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไปเช่นหาดเฉวงมีทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใส เหมาะแก่การเล่นน้ำ หาดละไมมีอ่าวโค้งสวยงาม หาดตลิ่งงาม เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดบนเกาะ ไม่เพียงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเท่านั้นเกาะสมุยยังพร้อมไปด้วยที่พักร้านอาหาร บริการนำเที่ยว สถานบรรเทิง และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันการเดินทางไปยังเกาะสมุยนั้นสะดวกมาก มีทั้งเรือโดยสารเรือเฟอร์รี่ข้ามฝั่งที่ออกเกือบทุกชั่วโมงและยังมีเที่ยวบินตรงมายังเกาะสมุยอีกด้วย
เกาะสมุย ความเป็นมาและที่ตั้ง
เกาะสมุย ตั้งอยู่ในบริเวณอ่าวไทย เป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดใน จ.สุราษฎร์ธานี) ห่างจากสุราษฎร์ธานีไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 84 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 247 ตารางกิโลเมตร กว้าง 21 กิโลเมตร ยาว 25 กิโลเมตร ถนนโดยรอบเกาะ (ถนนสายทวีราษฎร์ภักดี) ยาว 50 กิโลเมตร พื้นที่ 1 ใน 3 เป็นที่ราบ ล้อมส่วนที่เป็นภูเขาตรงกลางเกาะ
เกาะสมุย เป็นเกาะที่มีหาดทรายสวยทรายขาวมีชื่อหลายแห่ง อาทิ หาดเฉวง หาดนาเทียน หาดตลิ่งงาม หาดละไม นักท่องเที่ยวที่ต้องการหาดทราย ทะเล สายลม และแสงแดด ชายหาดที่ทอดยาวขนานไปกับทะเล ต้นมะพร้าวริมชายหาดและน้ำทะเลใสสวย ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยไปสมุยมาแล้ว ต้องหวนกลับไปอีกครั้งแล้วครั้งเล่า อาหารทะเลสด ๆ ก็เป็นอีกเสน่ห์ที่ชวนให้นึกถึง ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุม และฤดูร้อนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งคลื่นลมสงบ
คำว่า "สมุย" เป็นคำมาจากภาษาใดไม่ปรากฏแน่ชัด มีข้อสันนิษฐานต่างๆ นานา บ้างก็ว่ามาจากภาษาจีนไหหลำ "เช่าบ่วย" แปลว่า "ด่านแรก" หรือ "ประตูแรก" ซึ่งชาวจีนที่มาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยในสมัยก่อน มาแวะพักจอดเรือใช้เรียกเกาะสมุย แล้วออกเสียงเพี้ยนมาเป็น "สมุย" บ้างก็ว่ามาจากภาษาทมิฬ "สมอย" แปลว่าคลื่นลม บ้างก็ว่ามาจากชื่อต้นไม้ที่มีอยู่ทั่วไปในภาคใต้ คือ "ต้นหมุย" บ้างก็ว่า "สมุย" เป็นคำมลายู ซึ่งพวกแขกมลายูที่ติดต่อค้าขายกับประเทศไทยใช้เรียก อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับทะเล อ.เมือง จังหวัดชุมพร ทิศใต้ ติดต่อกับทะเล อ.ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันตกเหนือ ติดต่อกับทะเล อ.ไชยา อ.ท่าชนะ อ.เมือง อ.ดอนสัก อ.กาญจนดิษฐ์ จังหวัด สุราษฎร์ธานี
คำขวัญ ปะการังงาม น้ำทะเลใส หาดทรายขาว มะพร้าวเยอะ เกาะ สมุยนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นอย่างดี จัดว่าเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งรองมาจาก เกาะภูเก็ต และเกาะช้าง นักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเกาะสมุย ล้วนต้องการพักผ่อนริมหาด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำ หรือดำน้ำชมปะการัง นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยที่วางตัวอยู่ใกล้ริมหาดรอบๆ เกาะสมุย บางเกาะใน ยามที่น้ำลงก็สามารถเดินเท้าไปได้โดยสะดวก บางเกาะ ก็เป็นแหล่งดำน้ำชมปะการังที่สวยงาม
สถานที่ท่องเที่ยว
ชายหาด เกาะสมุยมีชายหาดที่สวยงามและเป็นแหล่งเศรษฐกิจอยู่หลายแห่งรอบเกาะ ชายหาดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปพักผ่อนและซื้อของฝากกันมาก คือ หาดหน้าทอน หาดเฉวง หาดละไม หาดตลิ่งงาม นอกจากนี้มีชายหาดที่อ่าวบางรัก บ้านบ่อผุด หาดท้องยาง หาดแม่น้ำ และหาดเชิงมน เป็นต้น หาดหน้าทอน อยู่ทางด้านหน้าของเกาะ หรือ ด้านทิศตะวันตกของเกาะ หาดแห่งนี้มีท่าเรือที่เป็น ศูนย์กลางในการเดินทาง ได้แก่ เรือเฟอร์รี่จากอำเภอดอนสัก เรือด่วนจากสุราษฎร์ฯ และเรือ เฟอร์รี่ที่ให้บริการ เกาะสมุย-เกาะพะงัน นอกจากนี้ในทุกเช้ายังมีเรือให้บริการ นักท่องเที่ยวไปสู่หมู่เกาะอ่างทอง ตลอดจนยังมีร้านจำหน่ายตั๋วรถโดยสารที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ จึงจัดได้ว่าหาดแห่งนี้เป็น ศูนย์กลางในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ
หาดหน้าทอน เหมาะแก่การเดินเล่น มีถนนเลียบชายหาด และยังมีร้านจำน่ายอาหารทะเลสดๆ จากชาว บ้านตั้งอยู่ริมถนนให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อหากันในราคาถูก ในยามเย็น ณ หาดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ สำหรับชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง และยามค่ำคืนหาดแห่งยังทำหน้าที่เสมือนประภาคาร คอยให้สัญญาณแก่ชาวประมง ในการออกทะเล
หาดตลิ่งงาม เป็นหาดที่อยู่ถัดไปในทางทิศใต้ของท่าเรือเฟอร์รี่ เป็นหาดขึ้นชื่อในการชม พระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดบนเกาะ เนื่องจากด้านหน้าของหาดเป็นที่ตั้งของเกาะสี่เกาะห้า ในเวลาที่ดวง อาทิตย์ตก จะสามารถมองเห็นภาพของดวงอาทิตย์ตกลงระหว่างกลางเกาะทั้งสอง และจมหายไปใน ทะเลเป็นภาพที่สวยงามมาก ในช่วงเย็นหาดแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในช่วงกลางวันยังสามารถเช่าเหมาเรือเพื่อเดินทางไปยังเกาะสี่-เกาะห้า ดำน้ำชมปะการัง หรือจะเลือก พักผ่อนด้วยการตกปลาก็ยังได้
หาดพังกา อยู่ทางตอนใต้ด้านทิศตะวันตกของเกาะ เป็นหาดที่เงียบสงบ ภาพที่เห็นโดยส่วนใหญ่ บนหาดแห่งนี้ คือ เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดเรียงรายเป็นจำนวนมาก และกลุ่มชาวประมงที่ดำรง ชีวิตอยู่กับการหาปลา บนหาดแห่งนี้ยังสามารถหารีสอร์ทราคาพิเศษพักผ่อนได้อย่างสบาย
หาดท้องกรูด อยู่ถัดไปจากหาดพังกา หาดแห่งนี้จัดว่าเป็นหาดที่เงียบสงบอีกแห่งหนึ่ง บนหาด แห่งนี้ยังมีท่าเรือหางยาวสำหรับเดินทางไปเกาะแตน โดยใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 15 นาที จึงสามารถ เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับก็ได้ หาดแห่งนี้ไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นน้ำ สามารถหาพักได้บนหาดแห่งนี้
หาดบางเก่า-นาเทียน อยู่ถัดจากหาดท้องกรูดไปทางทิศตะวันออก หาด 2 แห่งนี้ เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการพักผ่อนอย่างเงียบๆ ต้องการความเป็นส่วนตัว ลักษณะของหาดเป็นหาดกว้างและทอดตัวยาว น้ำริมหาดแห่งนี้ค่อนข้างตื้น ริมหาดมีทิวมะพร้าวเป็นแนวร่มรื่นและสวยงาม
หาดหัวถนน อยู่ถัดจากหาดบางเก่า-นาเทียน และอยู่ทางด้านทิศใต้ถัดมาจากหาดละไม เป็นหาดสงบอีกหาดหนึ่ง ไม่เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวดีนัก ลักษณะชายหาดมีส่วนที่ทอดยาว ออกไป จึงทำให้ระดับน้ำไม่ลึกจนเกินไป หาดแห่งนี้สะดวกแก่การเดินทางไปหาดหน้าทอนมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางถนนใหญ่ที่มาจากหาดละไมตัดกลางเกาะไปสู่หาดหน้าทอน
หาดละไม หาดแห่งนี้เป็นหาดขึ้นชื่อ ด้วยความสวยของโค้งอ่าว ที่มีทิวมะพร้าวปลูกอยู่เป็นแนว ในบางช่วงของหาดระดับน้ำลึก คลื่นแรง แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อบนหาดแห่งนี้ ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมวัดละไม
ศูนย์วัฒนธรรมวัดละไม เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุเกือบสองร้อยปี ที่เรียกว่าศูนย์วัฒนธรรมก็เนื่องมาจาก วัดแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมของใช้เก่าแก่ ซึ่งล้วนเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่นตะเกียงโบราณ เตารีดใช้ถ่าน กรงนก จอบ เสียม เครื่องดนตรี รองเท้าหนังควาย และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวและเมื่อเดินเที่ยวชมของใช้เหล่านี้ จนหมดแล้วทำให้เราสามารถเรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตของชาวบ้านในอดีต บนเกาะสมุยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ทางด้านทิศใต้ของหาดละไม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ หินตา หินยาย หินที่มีรูปร่างแปลกตา ซึ่งมีตำนานเล่ากันมาเนิ่นนานว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้เดินทางล่องเรือเพื่อจะไปขอหญิงสาวมาเป็นลูกสะใภ้ แต่เกิดเรือล่มขึ้นกลางทาง ด้วยแรงอธิษฐานของทั้งคู่ที่มีความตั้งใจจริง จึงบันดาลให้ทั้งสองกลายเป็นหินดังกล่าว หินทั้ง 2 ก้อนนี้ มีรูปร่างแปลกตาอย่างไร ก็ต้องลองไปชมกันเอง
บริเวณริมหาดที่เป็นที่ตั้งของ หินตา หินยาย มีร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกให้เลือกซื้อหลายร้าน และหากมีโอกาสได้เดินทางมาเที่ยว ณ ที่แห่งนี้ ก็ไม่ควรพลาดการดื่มน้ำมะพร้าวปั่นสดๆ จากลูกมะพร้าว
หาดเฉวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ ความยาวของหาดประมาณ 6 กม. หาดแห่งนี้ เหมาะแก่การเล่นน้ำ ชายหาดขาวสะอาด น้ำใส ระดับน้ำไม่ลึกเกินไป หาดที่ติดกันไปทางทิศตะวันตกคือ หาดเฉวงน้อย
หาดเฉวงน้อย จัดว่าเป็นชายหาดสวยงามและมีความกว้าง โดยเฉพาะเวลาที่น้ำลงจะเห็นพื้นทราย เป็นลานกว้าง ขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอลหลายเท่าตัว ยิ่งหากเป็นในคืนที่พระจันทร์เต็มดวงด้วยแล้ว แสงจากดวงจันทร์ตกกระทบลงบนพื้นทรายเป็นประกายแวววาว ยิ่งสร้างความสวยงามและประทับใจ เป็นอย่างยิ่ง
หาดเชิงมน ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะ เป็นชายหาดแคบๆ มีแนวโขดหินตามแนวหาด มีลักษณะเป็นส่วนตัวและเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่นน้ำ เนื่องจากมีแหลมยื่นลงไปในทะเล บางแห่ง จะมีแนวปะการังน้ำตื้นให้นักท่องเที่ยวได้ชม ในเวลาที่น้ำลงสามารถเดินเท้าไปยังเกาะสม บริเวณ หาดแห่งนี้สามารถหาที่พักในราคาที่ไม่สูงจนเกินไปได้
หาดพระใหญ่ตั้งอยู่ติดกับหาดเชิงมน สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังเกาะฟาน ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ด้วยถนน สามารถขับขี่ยวดยานพาหนะไปมาได้โดยสะดวก
พระ ใหญ่ หรือ พระพุทธโคดม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 5 วา 9 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บริเวณเกาะฟาน และเป็นที่ตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานสำหรับให้ผู้สนใจปฏิบัติธรรมพักอาศัยได้ พระธาตุหินงู พระบรมสารีริกธาตุเกาะสมุย หรือชาวเกาะสมุยเรียกว่าพระธาตุศิลางู อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย 17 กิโลเมตร ตามประวัติสร้างโดยชาวบ้านตำบลมะเร็ด ชื่อนายศรีทอง และได้มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2498 โดยเจ้าคุณพระอรรถทัศสิสุทธิพงศ์แห่งวัดชีโทน อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้มอบให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จมาทรงนมัสการ เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2505 ชาวเกาะสมุยจึงถือเป็นประเพณีมีงานนมัสการสืบมา
หาดบ่อผุด ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะสมุย อยู่ถัดจากหาดแม่น้ำ เป็นหาดที่มีความโค้ง ตามแนวของอ่าวบ่อผุด จัดว่าเป็นหาดที่มีชื่อเสียงในเรื่องของอาหารทะเล เพราะมีร้านอาหารจำหน่าย อาหารทะเลสดๆ ให้ลือกชิมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนชาวประมงเก่าแก่ มีบ้านเรือนปลูกสร้างตั้งอยู่ริมหาดเป็นแนวยาว เหมาะแก่ ่ผู้ที่ต้องการพักผ่อนในบรรยากาศที่เงียบสงบมากกว่าการเล่นน้ำ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือให้บริการใน การเดินทางจากเกาะสมุยไปยังเกาะเก่าด้วยเรือเร็วทุกวัน
หาดแม่น้ำ อยู่ระหว่างหาดบ่อผุดและหาดบางโพ มีแนวชายหาดที่ยาวแต่ไม่กว้างมากนัก นับว่า เป็นหาดที่เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการลงเล่นน้ำในบางช่วงต้องใช้ความ ระมัดระวังเนื่องจากระดับน้ำมีความลึกและมีคลื่นสูง นอกจากนี้ยังจะได้ศึกษาถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเก่าแก่นับร้อยปี และยังมีเรือหางยาว ให้บริการเดินทางไปยังเกาะพะงัน(ไปขึ้นฝั่งที่หาดริ้น บนเกาะพะงัน) ในช่วงเวลาเที่ยงของแต่ละวัน โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที หาดแห่งนี้มีรีสอร์ทให้เลือกพักหลากหลายรูปแบบ
หาดบางโพ อยู่ทางด้านทิศเหนือด้านตะวันตกของเกาะ อยู่ระหว่างหาดหน้าทอน และหาดแม่น้ำ สะดวกในการเดินทางเพราะมีถนนเลียบชายหาด หาดแห่งนี้มีความสงบเป็นส่วนตัว เมื่อยืนอยู่ริมหาด สามารถมองเห็นเกาะพะงัน นอกจากจะได้พักผ่อนในบรรยากาศที่เป็นส่วนตัวแล้ว ยังหาร้านอาหารทะเลสดๆ จากชาวบ้านในราคาถูกได้อีกด้วย
น้ำตก
น้ำตกมีน้ำตกหิน ลาด น้ำตกลาดวานร และน้ำตกหน้าเมือง ห่างจากท่าเรือหน้าทอน 3 กิโลเมตร 6 กิโลเมตร และ 14 กิโลเมตร ตามลำดับ เป็นน้ำตกที่ประชาชนนิยมมาเที่ยวพักผ่อนกันมาก ในฤดูฝนมีน้ำมาก การประปาสุขาภิบาลยังได้อาศัยน้ำจากน้ำตกหินลาดทำน้ำประปา สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนในตลาดหน้าทอน และบริเวณใกล้เคียงบริโภค และที่น้ำตกหน้าเมือง 1 และ 2 จะมีกิจกรรมการนั่งช้างบริการนักท่องเที่ยว ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น ทุกวัน
น้ำตกหน้าเมือง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ที่ต้องการพักผ่อนและต้องการ เปลี่ยน บรรยากาศเล่นน้ำจืดบนเกาะ การเดินทางมาเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้นับว่ามีความสะดวก มีถนนเข้าถึงน้ำตก และอยู่ห่างจากท่าเรือหน้าทอนเพียงแค่ 14 กิโลเมตร และเมื่อเดินทางมาถึงน้ำตกก็จะได้พบกับลานกว้าง มีที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึกให้บริการ หลังจากนั้นก็จะได้พบกับน้ำตกหน้าเมือง 1 ซึ่งจัดว่าเป็นน้ำตกขนาดไม่ใหญ่นัก มีความสูงประมาณ 15 เมตร สายน้ำจะไหลลงมารวมกันเป็นแอ่งขนาดใหญ่ เหมาะแก่การเล่นน้ำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ชอบความสมบุกสมบันในการเดินทาง ก็สามารถเดินเท้าเข้าไปชมน้ำตกหน้าเมือง 2 ซึ่งมี ขนาดใหญ่ และสวยงามเป็นอย่างยิ่ง กระแสน้ำที่นี่ค่อนข้างไหลแรง และระหว่างทางยังจะได้ชมแคมป์ช้าง สถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง และยังจะได้พบกับภาพความสวยงาม ของสายน้ำที่ไหลพาดผ่านหน้าผา ชมสวนมะพร้าว จนลืมความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินเท้าไปได้ เมื่อเดินทางมาถึงน้ำตกก็จะได้เห็นถึงความสูงใหญ่ของสายน้ำ และสามารถเดินเลาะด้านข้างไปสู่ชั้นสูงสุด ของน้ำตกชมความสวยงามของน้ำตกที่ทิ้งตัวลงมาไหลผ่านผาหิน เป็นจุดที่ไม่ควรพลาดในการบันทึก ภาพเก็บไว้
น้ำตกหินลาด เป็นน้ำตกที่ได้รับความนิยมไม่แพ้น้ำตกหน้าเมือง น้ำตกแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำที่ถูก แจกจ่าย ให้ประชาชนให้ตลาดอ่างทองได้ใช้อุปโภค บริโภค ที่อยู่ในความดูแลของการประปาส่วนภูมิภาค น้ำตกแห่งนี้อยู่ห่างจากท่าเรือหน้าทอนประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกมีถนนเข้าถึง ตัวน้ำตก เหมาะแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการพาเด็กๆ มาเล่นน้ำ เพราะระดับน้ำไม่ลึก กระแสน้ำก็ไม่ไหล แรงเพราะ ไหลผ่านโขดหินน้อยใหญ่ ลดหลั่นกันลงมา บวกกับความร่มรื่นของป่า จึงเหมาะแก่การนั่ง พักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง
เจดีย์แหลมสอ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยหลวงพ่อแดง พระภิกษุที่เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งของชาวเกาะสมุย มรณภาพเพราะเรืออับปาง เมื่อ พ.ศ. 2519 องค์พระเจดีย์ประดับด้วยกระเบื้องสีทองทั้งองค์ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมทะเลเขตติดต่อระหว่างตำบลตลิ่งงาม-หน้าเมือง วัดคุณาราม (วัดเขาโป๊ะ) บริเวณกิโลเมตรที่ 13 ใกล้น้ำตกหน้าเมือง มีพระซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแดง หรือ หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล (ท่านพระครูสมถกิตติคุณ) มรณภาพไปแล้วแต่ศพไม่เน่าเปื่อย บรรจุในโลงแก้ว ในท่านั่งวิปัสสนากรรมฐาน
สวนผีเสื้อสมุย ตั้งอยู่บนเนินเขาติดทะเลทางทิศใต้ของเกาะสมุย บริเวณแหลมนาเทียน ห่างจากหมู่บ้านชาวประมงบ้านหัวถนน 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 20 ไร่ ภูมิประเทศเป็นเนินเขาที่ค่อย ๆ ลาดลงสู่ทะเล มีส่วนที่เป็นสวนพฤกษศาสตร์จัดเป็นสวนหินปลูกไม้ดอกไม้ประดับ รวบรวมพันธุ์ไม้ไทย พืชสมุนไพรและไม้ป่านานาชนิด เพื่อจัดเป็นที่อยู่สำหรับผีเสื้อ
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสมุยและสวนเสือ อยู่ที่อ่าวแหลมเส็ต มีการแสดงสัตว์น้ำหลากชนิดที่น่าสนใจและ เสือเบงกอล เสือดาว รายละเอียดติดต่อ โทร.(077) 424017
แหล่ง ดูปะการัง อยู่บริเวณชายฝั่งของเกาะสมุย รวมทั้งที่อยู่ติดกับเกาะอื่น ๆ เช่น เกาะเต้าปน เกาะส้ม เกาะมัดหลัง เกาะนาเทียน และเกาะราหิน การเช่าเรือ และอุปกรณ์ดำน้ำติดต่อที่บังกะโลและบริษัทนำเที่ยวบนเกาะสมุย
การเดินทางเข้าสู่เกาะสมุย มี 3 เส้นทาง ได้แก่
1.การเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่ จากท่าเรือดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี โดยบริษัทราชาเฟอร์รี่ โทร. (077)471151-3 และบริษัทซีทรานเฟอร์รี่ โทร.(077)275060-2
2.เรือนอน (เรือธรรมดา) จากท่าเรือบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เที่ยวไป ออกจากสุราษฎร์ธานีเวลา 23.00 น. ถึงเกาะสมุยเวลาประมาณ 05.00 น. เที่ยวกลับ ออกจากเกาะสมุยเวลา 21.00 น. ถึงสุราษฎร์ธานีเวลาประมาณ 04.00 น 3.เครื่องบินจากกรุงเทพ - เกาะสมุย บริษัทการบินกรุงเทพ รายละเอียด โทร. (077)425011-12
ที่มา: http://www2.suratthani.go.th/index.php?opt...&Itemid=418
ประวัติความเป็นมาของเกาะสมุย ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยอากร ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านดอนแตง ใกล้วัดประเดิม หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าเมืองอยู่ทางทิศใต้ของเกาะสมุยมีข้อความปรากฏในหนังสือ " ชีวิวัฒน์ " พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงนิพนธ์ไว้เป็นทำนองรายงานการเสด็จ ตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีวอกพ.ศ. 2427 ได้กล่าวถึงเกาะสมุยในขณะนั้นใจความตอนหนึ่งว่า
" ในหมู่บ้านเกาะสมุยนี้ ถ้าจะประมาณโรงเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ จะเป็นไทยประมาณ 400 หลังเศษ จีน 100 หลังเศษเป็นจำนวนคนซึ่งประจำอยู่ ณ เกาะนั้น ไทยประมาณ 1,000 คนเศษ จีนสัก 600 คนเศษ คิดทั้งคนจรไปมาตั้งบ้างไปบ้างจะเป็นคนรวมประมาณถึง 2,000 คน แต่คนในเกาะสมุยนั้น มาก ๆ น้อย ๆ เป็นคราว ๆ เป็นต้นว่าถึงฤดูสักเลก คนหลบหนีมาอยู่เกาะสมุยเป็นอันมาก ถ้าจะคิดในเวลาอย่างมากจะเป็นคนประมาณถึง 5,000-6,000 คน คนไทยนั้นเป็นคนชาวนอก กริยาน้ำใจ และเสียสละเป็นชาวนอก กริยา น้ำใจเสียสละ เป็นชาวนอกทั้งสิ้น มักจะบิดเบือน พูดจาไล่ไม่จนและเป็นคนเกรงกลัวอาญานายกดขี่เป็นต้น ถ้าจะถามสิ่งใดก็พูดจาอ้อมค้อมวนเวียน ปิดบัง เป็นธรรมดา หาจริงยาก.....พวกนั้นมักจะเป็นชาติไหหลำทั้งสิ้น.....ฯลฯ "
เมื่อเกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยแก่เมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ส่งคนมาปกครองเกาะสมุยความอีกตอนหนึ่งในชีวิวัฒน์กล่าวว่า
" เกาะสมุยนี้ มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเป็นพระคนหนึ่ง คือนายฉิม ญาติพระยานครที่ตายเสียแล้ว ในเวลาบัดนี้ไม่มีตัวพระสมุยผู้ว่าราชการ มีแต่ปลัดอยู่คนหนึ่งเรียกว่า หลวงสมุยเป็นคนแก่อายุมาก" ชาวเกาะสมุยมักจะเรียกเจ้าเมือง เกาะสมุยว่า "ตาหลวงหมุย" และการปกครองสมัยเดิม เจ้าเมืองแต่ละคนจะอยู่จนแก่เฒ่า และเมื่อตายไปแล้วจะแต่งตั้งบุตรชายเป็นเจ้าเมืองแทนต่อไป
ในปี พ.ศ. 2427 ครั้งเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้มาตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ทำให้ทราบว่าชาวเกาะสมุยไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เพราะถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้ชาวเกาะสมุยเกรงอาญาเจ้าพระยานคร ดังนั้นชาวเกาะสมุยจึงได้ร้องทุกข์กับ สมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ต่อมาในคราวเดียวกันพระองค์ทรงแวะเยี่ยมเยียนที่เมืองไชยา อันเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ได้ทรงพบปะกับพระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมือง ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ ) ก็ทรงชอบพอัธยาศัยของพระยาไชยามาก ด้วยเหตุนี้เองจึงได้กราบทูลให้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความต้องการของชาวเกาะสมุย จึงทำให้เกาะสมุยมาขึ้นกับเมืองไชยาด้วยเหตุนี้เอง
ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ได้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยยุบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นมณฑล จังหวัด และอำเภอเมืองเกาะสมุยกับเกาะพะงันถูกยุบรวมเป็นอำเภอเดียวกัน และได้ส่งหลวงพิพิธอักษร (สิงห์ สุวรรณรักษ์) ไปเป็นนายอำเภอคนแรกของเกาะสมุย
หลวงพิพิธอักษร เป็นทั้งนักบริหารและนักปกครองและนักพัฒนาที่ดี จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวเกาะสมุยมากและได้นานนาม ท่านว่า " พ่อนาย " ท่านได้ย้ายที่ว่าการ จากบ้านดอนแตงมาตั้งที่บ้านหน้าทอน หมู่ที่ 3 ตำบลอ่างทอง ( อันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอปัจจุบันนี้ ) ด้วยเห็นว่าที่บ้านหน้าทอน อยู่ใกล้กับที่ทำการของเมืองไชยา มีอ่าวจอดเรือที่ดีและท่านได้สละที่ดินส่วนตัว จำนวน 6 ไร่ ให้เป็นที่ตั้งที่ว่าการ อำเภอในปี พ.ศ.2449 แต่ตัวอาคารที่ว่าการอำเภอเป็นแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2468หลวงพิพิธอักษร ได้รับพระราชทานยศเป็น พระยาเจริญราชภักดี ดำรงตำแหน่งนายอำเภอตั้งแต่ พ.ศ.2440-พ.ศ.2471 รวมเวลานานถึง 31 ปี จึงได้ลาออกรับบำนาญและถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 84 ปี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2482
ครั้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จประพาสเกาะสมุย และได้ทรงปรารภถึงความเก่าแก่ ของอาคารที่ว่าการอำเภอ และทรงเห็นว่าสมควรจะสร้างใหม่ได้แล้วดังนั้นทางอำเภอจึงได้ของบประมาณไปยังส่วนกลาง จนกระทั่งปี พ.ศ.2514 ได้รับงบประมาณ เป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) โดยให้สร้างแบบอาคารไม้สองชั้น ทางอำเภอพิจารณาเห็นว่าเกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศไปเที่ยวปีละมาก ๆ จึงได้ขอทบทวนใหม่ในปี พ.ศ.2516และได้รับงบประมาณในปี พ.ศ. 2518 และสร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ.2519 ลักษณะของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กตัวตึก 2 ชั้น
การคมนาคมบนเกาะสมุยในสมัยก่อนปี 2510 เป็นไปด้วยความยากลำบาก ท่านนายอำเภอดิลก สุทธิกลม จึงดำริที่จะปรับปรุงถนนบนเกาะสมุยให้ดีขึ้น และได้ตัดถนนให้รอบเกาะซึ่งแต่เดิมยังไม่รอบ ตรงจุดบริเวณอ่าวละไมไปสู่ตำบลบ่อผุดโดยจะต้องข้ามภูเขาลูกหนึ่ง คือ เขาหมาแหงน ภูเขาลูกนี้เคยเปรียบเสมือนหนึ่งปราการยักษ ์ที่แยกชาวตำบลมะเร็ตกับตำบลบ่อผุดให้อยู่ห่างไกลกัน เพราะว่าถนนรอบเกาะที่สร้างกันมาเรื่อยๆ นั้น เมื่อมาถึงเขาหมาแหงนก็ไม่สามารถจะสร้างถนนผ่านไปได้ เพราะไม่สามารถพิชิตภูเขานี้ได้ ดังนั้นเมื่อก่อนถนนรอบเกาะสมุยจึงไม่รอบเกาะ ทางด้านเหนือก็ผ่านมาทางตำบลแม่น้ำ เรื่อยมาจนถึงตำบลบ่อผุดก็สุดทาง ส่วนทางด้านใต้มาจนถึงตำบลมะเร็ตจดเชิงหมาแหงน ก็หมดทางเช่นกันชาวมะเร็ตและชาวบ่อผุดจึงดูห่างไกลกันเหลือเกินทั้ง ๆ ที่อยู่ติดกันแท้ ๆ
มีผู้ที่พยายามตัดถนนข้ามเขาหมาแหงนนี้หลายครั้ง ทั้งนายอำเภอคนก่อน ๆ และทั้งพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าพระครูสมุห์เลียบ ซึ่งชาวเกาะสมุยเรียกติดปากว่า " พระนักทำ " ซึ่งท่านพระครูองค์นี้ได้ช่วยสร้างถนนทำประโยชน์ให้แก่ชาวเกาะสมุยมาก เมื่อท่านลงมือทำอะไรก็มีชาวบ้านมาช่วยกันมากมาย เมื่อมีใครต่อใครพยามสร้างทางข้ามเขาหมาแหงนหลายครั้งไม่สำเร็จ ท่านก็ลงมือทำบ้างมีชาวบ้านทั้งจากตำบลมะเร็ตและตำบลบ่อผุดมาช่วยกันมากมาย พยายามตัดทางข้ามเขาหมาแหงน อยู่นานถึง 4 เดือนก็ไม่สำเร็จต้องเลิกไป ปล่อยให้เขาหมาแหงนเป็นอุปสรรคขวางกั้นการไปมาต่อไป
ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ.2510 อำเภอเกาะสมุยได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้อันมี ฯ พณ ฯ พันเอกถนัด คอร์มัน เป็นประธานคณะกรรมการ ได้มอบรถแทรกเตอร์ ที.ดี.4 ให้เกาะสมุยหนึ่งคัน พอถึงเกาะสมุย นายอำเภอดิลก สุทธิกลม (สมัยนั้น) ได้นำรถแทรกเตอร์คันนั้นไปปรับถนน บริเวณเขาหมาแหงนทันที ทั้งนี้โดยได้นิมนต์ พระมหาพิมล ฐานสุนทโร เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต.ตลิ่งงามไปร่วมงานสร้างถนนนี้ด้วย เพราะพระมหาพิมล เป็นที่เคารพขอชาวเกาะสมุยมาก เมื่อท่านร่วมมือด้วยชาวบ้านก็มาช่วยกันเป็นจำนวนมาก จากนั้นการตัดทางเชื่อมตำบลมะเร็ตกับตำบลบ่อผุดโดยผ่านเขาหมาแหงนก็เริ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2510 เป็นต้นมา งานตัดถนนผ่านเขาหมาแหงนนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องระเบิดภูเขาจำนวนมาก
ในปี 2512 เมื่อกรป.กลาง จัดส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ออกปฎิบัติการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้รับการขอร้องจากนายอำเภอ ให้สนับสนุนเครื่องมือในการทำทางก่อสร้างถนนรอบเกาะสมุย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าไปยังท่าเรือซึ่ง กรป.กลาง ได้จัดส่งชุดเครื่องมือหนัก ประกอบด้วยรถเครื่องจักรทุ่นแรง จำนวน 5 คัน ไปดำเนินการปรับปรุงขยายผิวจราจร ให้ แต่การปรับปรุงและขยายผิวจราจรก็ดำเนนไปได้ไม่เร็วเท่าที่ควร เพราะเครื่องมือไม่เพียงพอ
วันที่ 29 เมษายน 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสเกาะสมุย เป็นการส่วนพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ณ บริเวณศาลาคอย อ่าวเฉวง ต่อมาในปลายปี 2515 ได้เกิดอุทกภัยกระหน่ำภาคใต้อย่างรุนแรง ในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเกาะสมุย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีเรือล่มถึง23 ลำ บ้านเรือนราษฎรพังเสียหาย 581 หลัง ต้นมะพร้าวโค่นล้มประมาณ 57,000 ต้น และต้นทุเรียนกว่า 8,000 ต้น คิดค่าเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 31 ล้านบาท เป็นเหตุให้ภาวะทางเศรษฐกิจของเกาะสมุยทรุดตัวลงเป็นอย่างมาก กรป.กลาง จึงได้จัดส่งชุดทหารช่างก่อสร้าง ออกเดินทางมายังเกาะสมุยในต้นปี 2516 เพื่อปฎิบัติการฟื้นฟูและก่อสร้างเส้นทางรอบเกาะสมุย โดยเริ่มปฎิบัติการฟื้นฟูเกาะสมุยและก่อสร้างเส้นทางโดยทันที ซึ่งปรากฎว่า การปฎิบัติงานในระยะเริ่มต้นเป็นไปได้ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ คือมีฤดูฝนถึง 6 เดือน และเป็นฝนชนิดที่ตกอย่างไม่มีเค้าบางวันไม่สามารถจะปฎิบัติงานได้ ยิ่งกว่านั้น การตัดถนนผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและโขดหิน จำเป็นต้องอาศัยการระเบิดหินเป็นส่วนใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็มิได้ท้อถอย คงพยายามปฎิบัติงานไปโดยเต็มความสามารถ อย่างไม่หยุดยั้ง
ในปี พ.ศ. 2516 พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ ได้สั่งให้หน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 ซึ่งมีเครื่องมือที่สมบูรณ์กว่าดำเนินการทดแทน ชุดทหารช่างก่อสร้างเกาะสมุยชุดเดิม หน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 ได้เคลื่อนย้ายเครื่องมือหนักเข้าที่ตั้งบนเกาะสมุยโดยทันที และเริ่มการก่อสร้างถนนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2516 เป็นต้นมา ถนนรอบเกาะสมุยที่หน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 ดำเนินการสร้างนี้ มีระยะทางยาวทั้งสิ้น 50.228 กิโลเมตร เป็นถนนมาตรฐานอัดดินแน่นเขตทางกว้าง 12 เมตร ซึ่งมีผิวจราจรกว้าง 6 เมตร กับไหล่ทางกว้างอีกข้างละ 1 เมตร ได้เริ่มตั้งต้นก่อสร้างจากหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย ลงไปทางใต้ผ่านพื้นที่ตำบลอ่างทอง, ตำบลลิปะน้อย, ตำบลตลิ่งงาม, ตำบลหน้าเมืองจนถึงบ้านหัวถนน แล้ววกไปทางทิศตะวันออก ผ่านตำบลมะเร็ตไปช่องเขาหมาแหงนทางทิศตะวันออก ต่อไปยังอ่าวท้องตะเคียน ช่องบุญตา พุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ ถึงตำบลบ่อผุด แล้วเลยไปทางทิศเหนือของเกาะสมุย ผ่านตำบลแม่น้ำ ไปเขาแหลมใหญ่ แล้วจึงวกกลับมาบรรจบกันกับจุดเริ่มต้น ณ ที่ว่าการอำเภอเกาะสมุยซึ่งอยู่ที่ตำบลอ่างทอง นับว่าถนนสายนี้ตัดผ่านทุกตำบล โดยเฉพาะทางด้านทิศใต้กับทิศเหนือตัดผ่านหมู่บ้านริมทะเล ที่มีทิวทัศน์อันสวยสดงดงาม โดยตั้งชื่อถนนรอบเกาะสมุยว่า " ถนนทวีราษฎร์ภักดี "
ตามโครงการ และแผนที่ได้สำรวจ และประมาณการไว้นั้น ถนนสายนี้จะต้องสร้างสะพาน 15 แห่ง เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 สะพาน สะพานไม้ 12 สะพาน รวมความยาวของสะพานทั้งสิ้น 190 เมตร งานวางท่อระบายน้ำ 160 แห่ง และมีงานระเบิดหินบริเวณช่องเขาหมาแหงน ระหว่างท้องตะเคียน ถึงบ้านเฉวงน้อย อีกระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
การสร้างทางรอบเกาะสมุยนี้มีอุปสรรคอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศในภาคใต้ซึ่งมีฝนตกอยู่เสมอเกือบตลอดปี นอกจากนั้นเส้นทางนี้ยังมีแหล่งลูกรังจำกัดต้องขนลูกรังในระยะทางไกล ประกอบกับเส้นทางที่ตัดผ่านเขาหมาแหงนเลียบชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณที่ยากแก่การทำถนนเพระต้องใช้ดินระเบิดทำการระเบิดหินก้อนใหญ่ ๆ หลายลูกติดกันในระยะทางยาวเกือบ 3 กิโลเมตร ในการก่อสร้างถนนรอบเกาะสมุย ของหน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 แม้จะประสบกับอุปสรรคหลายประการ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาว เกาะสมุยเป็นอย่างดีในทุกๆ ด้านตลอดมา ทำให้การปฏิบัติงานสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรค ต่าง ๆ ลุล่วงไปด้วยดี |
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
เกมส์ปลูกผัก เกมส์เครื่องบิน เกมส์ต่อสู้ เกมส์ยิง เกมส์กีฬา เกมส์สนุกเกอร์เกมส์ผจญภัย เกมส์ผี |
|
|
|
|
|
|
ท่านอาจกำลังสนใจสิ่งนี้อยู่ |
|
|
|
|
|
|
|